ยะลา มลายูถิ่นออกเสียงเป็นยาลอ ยะลาเป็นคำมลายูยืมบาลีสันสกฤตมาใช้ คำเดิมคือชาละ หรือชาลี หมายถึงแห หรือตาข่าย โอรสพระเวสสันดรขณะประสูติมีชาวพนักงานใช้ตาข่ายรองรับพระกุมาร จึงได้พระนามว่าชาลี
ภูเขาลูกหนึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองยะลา มีลักษณะเหมือนแหหรือตาข่ายจับปลา โดยผูกจอมแหให้สูงแล้วถ่างตีนแหออกไปโดยรอบ ชาวบ้านจึงเรียกภูเขานี้ว่ายะลา หรือยาลอ และนำมาตั้งชื่อบ้านนามเมือง ยะลาเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองที่แยกมาจากเมืองปัตตานีในอดีต
ชุมชนเก่าของเมืองยะลา มีการโยกย้ายมาหลายแห่งก่อนที่จะตั้งชุมชนที่บ้านนิบงในปัจจุบัน เช่นเคยตั้งชุมชนที่บ้านท่าสาป และบ้านสะเตง
ท่าสาป ปัจจุบันเป็นตำบล เขตอำเภอเมืองยะลา บ้านท่าสาปอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปัตตานี ซึ่งต้นน้ำไหลมาจากอำเภอเบตง ผ่านท่าสาป แล้วไหลไปทางอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี สุดท้ายออกสู่ทะเล
ทำไมเรียกท่าสาป เพราะว่าสายน้ำตรงนั้นไหลผ่านหินใหญ่ก้อนหนึ่งรูปทรงเหมือนหญิงเปลือย อยู่ในท่านั่งถ่างขา หันหน้าไปทางต้นน้ำ เมื่อน้ำไหลมากระทบหินก้อนนี้มีเสียงดัง ยิ่งฤดูน้ำหลากยิ่งดังมาก
ชาวบ้านเชื่อว่าผู้เรียนทางคาถาอาคมหากลงไปอาบน้ำ หรือข้ามลำน้ำในช่วงนั้นแล้ว ความรู้จะเสื่อมถอยเหมือนต้องคำสาป ดังนั้นต้องไปขึ้นที่ฝั่งอื่น
ชื่อท่าสาปนี้คำมลายูว่ากัมปง เซอะฆะ แปลว่าหมู่บ้านน้ำซับ ซับกับสาปมีเสียงใกล้เคียง ท่าสาปน่าจะมาจากคำมลายูดังกล่าวเช่นกัน
สะเตง ปัจจุบันเป็นตำบล เขตอำเภอเมืองยะลา เคยเป็นที่ตั้งตัวเมืองยะลาตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ สะเตงอยู่คนละฟากฝั่งกับท่าสาป สมัยนั้นใช้เรือเป็นพาหนะ สอดคล้องกับสะเตง คำมลายู หมายถึงไม้ถ่อเรือ หรือไม้ถ่อแพ และเสียงใกล้เคียงกับคำมลายูอีกคำหนึ่ง คือซือแต (Sete) แปลว่าต้นสะเดา
นิบง เป็นตำบลที่ตั้งตัวเมืองยะลาปัจจุบันมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๔ นิบงเป็นคำมลายู หมายถึงต้นเหลาชะโอน ชาวใต้ทั่วไปเรียกต้นหลาโอน เป็นไม้ประเภทปาล์ม ลำต้นมีหนามตามปล้อง
ปัจจุบันยะลาแบ่งออกเป็น ๗ อำเภอและ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองยะลา อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอกาบัง และกิ่งอำเภอกรงปีนัง
อำเภอเบตง เป็นคำมลายู หมายถึงไม้ไผ่ขนาดใหญ่ คงหมายถึงไม้ไผ่ตง เดิมเรียกอำเภอนี้ว่าอำเภอยะรม ยะรมหมายถึงเข็มเย็บผ้า ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในเขตนี้
เบตงติดกับรัฐเปรัค (เปรัค = แร่เงิน) และรัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) ชาวเบตงนอกจากเป็นไทยมุสลิมแล้ว ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน มักเป็นเจ้าของสวนยางพารา และประกอบการค้าขาย
ชาวไทยเชื้อสายจีน โดยเฉพาะบรรพบุรุษที่มาจากมณฑลกวางไส ได้นำไก่พันธุ์กวางไสเข้ามาด้วย ปัจจุบันเป็นที่นิยมรับประทาน นับเป็นยอดอาหารอย่างหนึ่งของเบตง ไก่พันธุ์นี้มีขนสีน้ำตาล ปากและขาสีเหลือง ไม่มีขนคอและขนหัว ดูเป็นไก่หัวล้าน
ตำนานเบตงที่เราทราบกันดีคือ เคยเป็นถิ่นของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ โดยเริ่มต้นจากโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) เมื่อปี ๒๔๖๙ ต่อมาปี ๒๔๘๔ เกิดสงครามญี่ปุ่น หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็ปรากฏโจรจีนคอมมิวนิสต์ในเบตงทวีจำนวนมากขึ้น ก่อนหน้านี้เมื่อปี ๒๔๗๖ บ้านพักขุนวิจิตรภาษี นายด่านศุลกากรเบตง และสถานีตำรวจเบตงก็โดนโจรจีนฯ ปล้นอย่างอุกอาจ กองทัพภาคที่ ๔ พยายามปราบโจรจีนคอมมิวนิสต์มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๔๕ ปี จนกระทั่งปี ๒๕๓๐ สมาชิกโจรจีนฯ เข้ามอบตัวตามโครงการพัฒนาชาติไทย เป็นผลให้ขบวนการโจรจีนฯ ดังกล่าวทุกวันนี้คงเหลือแต่ตำนาน
ปัจจุบันค่ายโจรจีนฯ เปลี่ยนสภาพเป็นหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ดังเช่นหมู่บ้านปิยมิตรวนคาม ๑ ตำบลตาเนาะแมเราะ (แปลว่าดินสีแดง) ก่อนจะถึงตัวเมืองเบตงประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
ที่เบตงมีตำนานความเชื่อเกี่ยวกับโต๊ะนิ เป็นชื่อของรายาจาวัล (รายาหมายถึงราชา, จาวัลหมายถึงถ้วยหรือแก้ว จึงเรียกอย่างคำไทยว่าเจ้าแก้ว) ถิ่นเดิมของท่านคือโกตาบารู หรือเมืองใหม่ เขตเมืองรามัน ปัจจุบันรามันเป็นอำเภอหนึ่งของยะลา
โต๊ะนิชอบผจญภัยโดยเฉพาะการคล้องช้างป่า จึงมีสหายคู่ใจทำหน้าที่เป็นควาญช้าง คือโต๊ะมีซาปาแย และโต๊ะดาแมแปแซะ ทั้งสามติดตามช้างไปจนถึงเบตงและบ้านโกร๊ะ เขตเปรัค โต๊ะนิเก่งทางไสยเวท และรู้จักสรรพคุณพืชสมุนไพร จึงเป็นหมอรักษาโรคได้ด้วย ผู้คนในเขตรามัน เบตง และเปรัคต่างเชื่อถือและศรัทธาท่าน
ที่ประทับของโต๊ะนิอยู่ในเขตทั้งสามแห่งนี้ เล่ากันว่ามีไก่สีขาวของโต๊ะนิในเขตดังกล่าวด้วย โต๊ะนิเสียชีวิตที่บ้านโกร๊ะ เขตเปรัค ขาวเบตงที่เชื่อถือศรัทธาโต๊ะนิได้สร้างศาลโต๊ะนิไว้ในเขตโรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน บ้างเล่าว่าโต๊ะนิมักปรากฏร่างเป็นงูดำ ช้าง หรือเสือ ให้เห็นเสมอ
อำเภอธารโต ชื่อนี้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ เพราะมีลำธารกว้างใหญ่ไหลผ่าน พื้นที่แวดล้อมด้วยป่าเขาลำเนาไพร จนจรดเขตมาเลเซีย พวกเงาะซาไกมักอาศัยอยู่ในป่าเขาแถบนี้ ถึงแม้มีกรมประชาสงเคราะห์สร้างที่พักและให้ที่ทำกิน แต่เงาะพวกนี้ไม่ได้สนใจมากนัก เพราะต้องการอยู่ตามประสาที่แท้จริงมากกว่า
อำเภอบันนังสตา คำมลายู บันนังหรือเบินดังหมายถึงที่นา สตาหมายถึงต้นมะปราง รวมความแล้ว หมายถึงที่นา มองเห็นต้นมะปรางโดดเด่นแต่ไกล
เขตบันนังสตาและธารโตแวดล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้ โดยเฉพาะบริเวณภูเขาหลายลูกมีการทำเหมืองแร่ดีบุก วุลแฟรม แมงกานีส และตะกั่ว รวมแล้วประมาณ ๓๐ เหมือง ตราประจำจังหวัดยะลาใช้เหมืองแร่เป็นสัญลักษณ์
ตำนานเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ที่บันนังสตา เกี่ยวข้องกับตระกูลชาวจีนฮกเกี้ยนจากเมืองซัวเถา ชื่อ มุ้ย แซ่ตัน
ชาวจีนผู้นี้มาอยู่ที่เมืองสงขลาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มุ้ย แซ่ตัน อาสาเจ้าเมืองสงขลาต่อสู้กับข้าศึก ช่วงแรกเขาและลูกน้องพ่ายแพ้เพราะหิวข้าวบ่อยเลยหมดกำลัง ต่อมาคิดแก้ตัวใหม่โดยใช้กระบอกไม้ไผ่บรรจุข้าวต้มสะพายไว้ใกล้ตัว ยามหิวก็ยกกระบอกนั้นซดทันที
ในที่สุดก็ชนะข้าศึก มุ้ย แซ่ตัน ได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงสำเร็จกิจการ จางวางเมืองปัตตานี ภายหลังถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๔๒๓ ทายาทคนสำคัญคือนายจูไล่ ตันธนาวัฒน์ ภายหลังได้เป็นพระจีนคณารักษ์ นายอำเภอจีนเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นต้นตระกูลคณานุรักษ์
ต่อมาด้วยความดีความชอบของพระจีนคณารักษ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหมือง ๕ แห่งที่อำเภอบันนังสตาให้ไว้เป็นที่ทำกิน
การเดินทางจากปัตตานีไปบันนังสตายุคนั้นไม่มีถนนอย่างปัจจุบัน จึงใช้เรือหรือแพถ่อไปตามลำน้ำปัตตานี ผ่านท่าสาป จนกระทั่งถึงบันนังสตา ที่เหมืองแร่มีบ้านพักพระจีนคณารักษ์ และกงสีคนงาน คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวจีน
วิธีขุดแร่สมัยนั้น คุณยายเป้กแฉ้ สุวรรณโชติ หลานพระจีนคณารักษ์ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า คนงานใช้ไม้กระดานปูเป็นรางที่ริมลำธาร น้ำจะพัดพาเอาดินผ่านเข้ามา จากนั้นใช้จอบเกลี่ยดิน เมื่อได้ดีบุกแล้วก็นำไปหลอม ถ้าหน้าดีบุกเป็นสีเหลืองจะมีคุณภาพ และราคาดีกว่าหน้าดีบุกเป็นสีขาว
บันนังสตามีหมู่บ้านชื่อกาโสดเกี่ยวกับตำนานทรัพย์สมบัติในถ้ำซึ่งคนธรรพ์เป็นผู้เฝ้า เล่ากันว่า มีโอ่งบรรจุสมบัติจำนวน ๘๑ โอ่ง เรียงเป็น ๙ แถว หรือเก้าโสด ภายหลังกลายเสียงเป็นกาโสด ต่อมาคนธรรพ์ไม่พอใจชาวบ้าน ที่ยืมข้าวของไปใช้แล้วไม่คืนตามกำหนด จึงปิดปากถ้ำตั้งแต่บัดนั้น ชาวบ้านกาโสดเล่าว่า คืนวันเพ็ญมักได้ยินเสียงดังออกมาจากถ้ำ เข้าใจว่าคนธรรพ์คงตรวจดูสมบัติทั้ง ๙ แถว
อำเภอรามัน คำมลายู หมายถึงชุมชนใหญ่ รามันมาจากคำว่ารามา (Rama) หมายถึงผู้คนจำนวนมาก อำเภอนี้เคยเป็นหัวเมืองหนึ่งในเจ็ดที่แยกมาจากเมืองปัตตานี ชื่อบ้านนามเมืองของเมืองนี้ยังบ่งบอกถึงการตั้งเมือง เช่น ชื่อบ้านโกตาบารู หมายถึงเมืองใหม่หรือป้อมใหม่ (โกตา = ป้อม หรือเมือง, บารู = ใหม่) บ้านกอตอตือรี หมายถึงป้อมหรือวังสร้างด้วยไม้แก่น (กอตอ = ป้อม หรือวัง, ตือรี = ไม้แก่น)
อำเภอยะหา คำมลายู หมายถึงต้นขี้เหล็ก หรือต้นมูลเหล็ก ยะหาติดกับรัฐเคดาห์ของมาเลเซีย และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
อำเภอกาบัง อาจมาจากคำมลายูว่าฆามแบ (Gambe) หมายถึงต้นสีเสียด
อำเภอกรงปินัง คำมลายู หมายถึงหมู่บ้านที่เห็นต้นหมากขึ้นเป็นกลุ่ม คือเป็นดงหมากหรือป่าหมาก
ชื่อบ้านนามเมืองของจังหวัดยะลาที่ควรกล่าวถึงอีก เช่น
หมู่บ้านวัดหน้าถ้ำ ชื่อวัดนี้ทางราชการยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนใหม่เป็นวัดคูหาภิมุข ซึ่งมีความหมายเหมือนเดิม
ภูเขาสำคัญละแวกนั้นคือภูเขาวัดถ้ำ และภูเขากำปั่น ที่ชื่อภูเขากำปั่นเพราะเล่ากันว่าเรือกำปั่นแล่นมาตามน้ำปัตตานี และมาจมลงที่นั่น ภูเขาทั้งสองลูกนี้มีถ้ำน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก ถ้ำที่สำคัญคือถ้ำพระนอน และถ้ำศิลป์
ตรงหน้าถ้ำพระนอนมีรูปปั้นอสูรถือกระบองยืนเด่นตระหง่านอยู่ตรงบันไดปากทางเข้าประตูถ้ำ ภายในถ้ำมี “พ่อท่านบรรทม” หรือพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ วัดจากพระเศียรถึงพระบาทมีความยาวประมาณ ๘๒ ฟุต เหนือพระเศียรมีรูปปั้นพญานาคทอดตัวแผ่พังพานดูสวยงาม
ตำนานการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ทำนองเดียวกับการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งในภาคใต้ คือมักเล่าถึงการนำทรัพย์สมบัติเงินทองไปร่วมทำบุญสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช แต่ภายหลังทราบว่าพระบรมธาตุเจดีย์สร้างเสร็จแล้ว จึงนำทรัพย์สมบัติเงินทองนั้นมาสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่างๆ
เล่ากันว่าผู้ดำริสร้างพระพุทธไสยาสน์ดังกล่าวนี้คือผู้ครองเมืองต่างๆ ซึ่งภายหลังเรียกหัวเมืองมลายู และยุคนั้นผู้คนนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายาน รวมทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ส่วนถ้ำศิลป์นั้นมีภาพเขียนสีเป็นภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัยและภาพอัครสาวก นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าคงเขียนในสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
นอกจากถ้ำสำคัญดังกล่าว ยังมีถ้ำอื่นๆ เช่น ถ้ำพระผีทำ ซึ่งพบพระพิมพ์ดินดิบเป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อนภายในถ้ำเห็นพระพิมพ์เกลื่อนพื้นถ้ำ จึงช่วยกันหยิบไปกองไว้ตามผนังถ้ำ ครั้นกลับออกมาก็พบพระพิมพ์ดินดิบยังเปียกชื้นวางเรียงรายอยู่ตรงที่เดิมอีก เหมือนกับว่าเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ เป็นเช่นนี้หลายครั้ง จึงเรียกถ้ำนี้ว่า “ถ้ำพระผีทำ”
ก่อนจบชื่อบ้านนามเมืองยะลา ขอชมเชยถนนสวยที่สุดของจังหวัดนี้ คือถนนพิพิธภักดี เป็นชื่อของพระยาพิพิธภักดี (เพิ่ม เดชะคุปต์) พระยาเมืองยะลา ช่วงปี ๒๔๕๓-๒๔๕๖ และช่วงปี ๒๔๕๖-๒๔๖๙ ก่อนหน้านี้มีพระยาเมืองยะลาที่เป็นมุสลิมคนสุดท้าย คือพระยาณรงค์ค์ฤทธีศรีประเทศวิเศษวังษา (ต่วนสุไลมาน พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๕๑)
ถนนพิพิธภักดีร่มรื่นด้วยประดู่ต้นใหญ่ยืนเรียงรายทั้งสองฟากถนน ยามผลิดอกดูสวยงามเหลืองอร่ามตลอดทาง
Cr.
ที่มาศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547
ผู้เขียนประพนธ์ เรืองณรงค์
เผยแพร่วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2562